วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร



พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร
?

เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ

คัดลอกจาก http://www.geocities.com/gogfox/aphithum2.html



ต่อมาประมาณปี พ.ศ ๙๐๐ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎก ท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราชบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอารธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียดลึกซึ้งมากนั้น ให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์จึงได้อาศัยพระบาลี อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา มาเป็นหลักในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ + ธรรม + อัตถะ + สัง + คหะ

อภิ = อันประเสริฐยิ่ง
ธรรมะ = สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ = เนื้อความ
สัง = โดยย่อ
คหะ = รวบรวม
อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึง คัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็วพระอภิธรรมแบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉทมี เนื้อหาโดยสรุปดังนี้

ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค

แสดงเรื่อง ธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค

แสดงเรื่องเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเพื่อปรุงแต่งจิตมีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภทเจตสิกฝ่ายกุศล และเจตสิกฝ่ายอกุศล

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค

แสดงการนำจิตและเจตสิกมาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่ ความรู้สึกของจิต (เวทนา) เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ) หน้าที่ของจิต (กิจ) ทางรับรู้ของจิต (ทวาร) สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์) และที่ตั้ง ที่อาศัยของจิต (วัตถุ)

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค

แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้วจะทำให้รู้กระบวนการทำงานของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิด ที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญหรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิดประตูให้เกิด จิตบุญหรือจิตบาปจิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับการวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือการวางใจ อย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) หากเราได้เข้าใจก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้จิตบาป เกิดขึ้นได้

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค

แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะเกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่าง ๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษยภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ) ขณะเวลาใกล้จะตายภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรเตรียมใจอย่างไรจึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี

พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าตายแล้วต้องเกิดทันทีไม่ใช่ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบายเรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย)

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค และนิพพาน

เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิต และเจตสิก อันเป็นนามธรรมมาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูปร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็นรูปต่าง ๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึง สมุฎฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร ในตอนท้ายได้กล่าวถึง เรื่องพระนิพพาน ว่ามีสภาวะอย่างไร อันจะทำให้เข้าใจเรื่องของ พระนิพพานได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค

เมื่อได้ศึกษาปรมัตตธรรม ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มาจากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลซึ่งให้ผลเป็นความสุข และธรรมที่ฝ่ายอกุศลซึ่งให้ผล เป็นความทุกข์ในสภาวะความเป็นจริงแล้วกุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหนมากน้อยเพียงใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรม ของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจและไม่รู้จักกับกุศลและอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ใน วัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรมที่ควรรู้ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทานยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น) อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์) ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติ ที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน) อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ) และโพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูล การตรัสรู้ ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฎฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค

ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฎิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฎฎ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้ายยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุตโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก

ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฎฐานสังคหวิภาค

ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึงความแตกต่างของสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตเกิดความสงบ และเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่าง) เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำสมาธิ หรือสมถกรรมฐานนั้นเป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญ สมถกรรมฐานถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุขอยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า จิต + เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตต่างก็มี การเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนอะไรของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็จะสามารถประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด



การสวดพระอภิธรรมในงานศพ


ทุกท่านคงจะพบคำว่า สวดพระอภิธรรม หรือ ตั้งศพสวดพระอภิธรรม ในบัตรเชิญหรือในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเชิญไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลแด่ท่านผู้วายชนม์อยู่บ่อย ๆ ที่ว่า สวดพระอภิธรรม นั้น เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ย่อมทราบดีแล้วว่าหมายถึงอะไร

ตามหลักฐานของท่านผู้รู้กล่าวว่า มีการนำเอาพระอภิธรรมมาสวดในพิธีศพของพุทธศาสนิกชนชาวไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่า การบำเพ็ญกุศลในงานศพเพื่ออุทิศให้ผู้วายชนม์นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความกตัญญูต่อผู้วายชนม์ซึ่งจากไปไม่มีวันกลับ การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนำเอาคัมภีร์พระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีนี้นั้นตามข้อสันนิษฐาน คงจะเกิดจากเหตุผลประการต่าง ๆ ดังนี้

ประการแรก เป็นเพราะ พระอภิธรรม ไม่กล่าวถึงสัตว์ ไม่กล่าวถึงบุคคล ไม่มีตัวตน เรา เขา แต่ทรงจำแนกธรรมออกเป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต (ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล) ทรงกระจายสรีระกายซึ่งเป็นกลุ่มก้อนออกเป็นขันธ์ ๕ บ้าง อายตนะ ๑๒ บ้าง ธาตุ ๑๘ บ้าง อินทรีย์ ๒๒ บ้าง อันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งต้องมีการเสื่อมสลายไปตามสภาวะ มิสามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป การได้ฟังพระอภิธรรมจะทำให้ผู้ฟังน้อยนำมาเปรียบเทียบกับการจากไปของผู้วายชนม์ ทำให้เห็นสัจจธรรมที่แท้จริงของชีวิต ท่านโบราณบัณฑิตคงจะเห็นว่าในงานเช่นนี้เป็นโอกาสอันดีที่ท่านผู้ฟังและท่านผู้ร่วมบำเพ็ญกุศลในงานศพจะสามารถพิจารณาเห็นความจริงของชีวิตได้โดยง่าย จึงได้นำเอาพระอภิธรรมมาแสดงให้ฟัง

อีกประการหนึ่ง เพราะเห็นว่าในการตอบแทนพระคุณพุทธมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านได้เสด็จขึ้นไปทรงแสดงพระอภิธรรมเทศนาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดาซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อบุพการีอันได้แก่ มารดา บิดา ถึงแก่กรรมลง ท่านผู้เป็นบัณฑิตจึงได้นำเอาพระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ โดยถือว่าเป็นการสนองพระคุณมารดา บิดา ตามแบบอย่างพระจริยวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาแม้ว่าท่านผู้วายชนม์จะมิใช่มารดาบิดาก็ตาม แต่การนำเอาพระอภิธรรมมาแสดงในงานศพก็ถือเป็นประเพณีไปแล้ว

ประการสุดท้าย เพราะเชื่อว่าพระอภิธรรมเป็นคำสอนขั้นสูงที่มีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ หากนำมาแสดงในงานบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้วายชนม์แล้ว ผู้วายชนม์จะได้บุญมาก

การสวดพระอภิธรรมก็คือการนำเอาคำบาลีขึ้นต้นสั้น ๆ ในแต่ละคัมภีร์ของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์มาเรียงต่อกัน การสวดพระอภิธรรมนี้บางทีเรียกว่า สวดมาติกา ถ้าเป็นงานพระศพบุคคลสำคัญในราชวงศ์เรียกว่า พิธีสดับปกรณ์ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า สัตตปกรณ์ อันหมายถึงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั่นเอง (สัตต = เจ็ด, ปกรณ์ = คัมภีร์, ตำรา)

ต่อมาภายหลังมีผู้รู้ได้นำเอาคาถาในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ของพระอนุรุทธาจารย์มาสวดเป็นทำนองสรภัญญะ (คือการสวดเป็นจังหวะสั้น-ยาว) เรียกว่า สวดสังคหะ โดยนำเอาคำบาลีในตอนต้นและตอนท้ายของแต่ละปริจเฉท ซึ่งมีทั้งหมด ๙ ปริจเฉทมาเรียงต่อกันเป็นบทสวด



แหล่งที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=beee&month=25-09-2008&group=7&gblog=11

ความหมายของ พระอภิธรรมปิฎก

 ความหมายของพระอภิธรรม


พระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชา ล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ ๑. สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ ๒. วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด ๓. ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ๔. ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ ๕. กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ ๖. ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ ๗. ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร
ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี ต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา จากนั้น ขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดย จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่ กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้ เพียง ๑๒๒ มาติกา) เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็น เรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณ ประเภทต่าง ๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่นอธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์ เล่ม ๓๖ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคล ต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อ แก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็น ว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรมเป็นต้น ประพันธ์ เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความ รู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือ ว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน แห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่ง กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา ปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลม ติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึง เจริญวิปัสสนา ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิด ทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ) อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความ อยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่ อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้เป็นต้น (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน) เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็น อดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๒ (ทุกมา ติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย "กุศล ธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุด กัน เช่นอธิบายว่า "กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่น เอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่ กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรม ที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้ เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)
คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้นเล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนัง สืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดย ขนาดและโดยความสำคัญ
พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรม ขันธ์



คัดลอกจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

ประโยชน์จากการศึกษาพระอภิธรรม

ประโยชน์จากการศึกษาพระอภิธรรม
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาพระอภิธรรมมีอยู่มากมายหลาย ประการ แต่ที่สาคัญมีโดยสังเขปดังนี้


๑. การศึกษาพระอภิธรรมจะทาให้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะพระอภิธรรมเกิดจากพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ การเข้าถึงพระอภิธรรมจึงเท่ากับเข้าถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง

๒. การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือศึกษาธรรมชาติการทางานของ กายและใจซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิต (วิญญาณ), เรื่องเจตสิก, เรื่องอานาจจิต, เรื่องวีถีจิต, เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม, เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด, เรื่องสัตว์ในภพภูมิต่างๆ และเรื่องกลไกการทางานของกิเลส ทาให้รู้ว่าชีวิตของเราในชาติปัจจุบันนี้มาจากไหนและมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อได้คาตอบชัดเจนดีแล้วก็จะรู้ว่าตายแล้วไปไหนและไป ได้อย่างไร อะไรเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า ทาให้หมดความสงสัยว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ นรก สวรรค์ มีจริงไหม ทาให้มีความเข้าใจเรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม(วิบาก) อย่างละเอียดลึกซึ้ง

๓. ผู้ศึกษาพระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม หรือสภาว ธรรมอันจริงแท้ตามธรรมชาติ ในพระอภิธรรมจะแยกสภาวะออกให้เห็น ว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไรทั้งนั้น คงมีแต่สภาวธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่วนเวียนอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับ ไปอีก มีสภาพเกิดดับอยู่เช่นนี้ตลอดเวลานานแสนนานไม่รู้กี่แสนชาติ กี่ ล้านชาติมาแล้วที่สืบต่อกันอยู่เช่นนี้โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาวธรรมทั้ง ๓ นี้ก็ทางานอยู่เช่นนี้โดยไม่มีเวลาหยุดพักเลย สภาวธรรมหรือธรรมชาติเหล่านี้มิใช่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า พระพรหม พระอินทร์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เป็นผู้บันดาลหรือเป็นผู้สร้าง แต่สภาวธรรมเหล่านี้เป็นผลอันเกิดมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหานั่นเองที่เป็นผู้สร้าง

๔. การศึกษาพระอภิธรรมจะทาให้เข้าใจสภาวธรรมอีกประการหนึ่ง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เข้าถึงนั่นก็คือ นิพพานนิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ผู้ที่ปราศจากกิเลส ตัณหาแล้วนั้น เมื่อสิ้นชีวิตลงก็จะไม่มีการสืบต่อของจิต+เจตสิก และ รูปอีกต่อไป ไม่มีการสืบต่อภพชาติ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมชาติที่ปราศจากกิเลส ตัณหา เป็นธรรมชาติที่ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงและเป็นธรรมชาติที่พ้นจากขันธ์ ๕ นิพพานมิใช่เป็นแดนสุขาวดีที่เป็นอมตะและเพียบพร้อมด้วยความสุขล้วนๆ ตลอดนิรันดร์กาลตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

๕. การศึกษาพระอภิธรรมจะทาให้เข้าใจคาสอนที่มีคุณค่าสูงสุดใน พระพุทธศาสนา เพราะแค่การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญสมาธิก็ยังมิใช่ คาสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนาเนื่องจากเป็นเหตุให้ต้องเกิดมารับ ผลของกุศล

เหล่านั้นอีก ท่านเรียกว่าวัฏฏกุศล เพราะกุศลเหล่านี้ยังไม่ทาให้ พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด คาสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เห็นว่า ทั้งนามธรรม (จิต+เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) มีสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ ได้ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีการเกิดดับ ๆ ตลอดเวลา หาแก่นสาร หาตัวตน หาเจ้าของไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้วก็จะนาไปสู่การประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพาน ได้ในที่สุด

๖. การศึกษาพระอภิธรรม จะทาให้เข้าใจเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา ซึ่งต้องมีนามธรรม (จิต+เจตสิก )และรูปธรรม (รูป) เป็นอารมณ์ เมื่อกาหนด อารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ถูกต้อง การปฏิบัติก็ย่อมได้ผล ตามที่ต้องการ

๗. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการสั่งสมปัญญาบารมีที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีวิทยาการใดๆ ในโลกที่ศึกษาแล้วจะทาให้เกิดปัญญารู้แจ้งโลกได้เท่ากับ การศึกษาพระอภิธรรม

๘. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการช่วยกันรักษาหลักธรรมคาสอนของพระพุทธองค์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังและเป็นการช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงถาวรตลอดไป

อ้างอิงแหล่งที่มา : http://www.buddhism-online.org/

พระนิพนธ์ไว้อาลัยแด่องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี




พระนิพนธ์ไว้อาลัยแด่องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี
หลวงตามาบัว...ท่านพ่อมหาบัวของลูก ท่านพ่อเป็นอริยบุคคลที่ลูกรักและเทิดทูนมาตลอด ถ้าจะถามกันว่าลูกรู้จักท่านพ่อมานานหรือยัง...ก็คงต้องตอบว่านานมากกว่า เกือบสี่สิบปีแล้ว ลูกก็ได้ยินชื่อเสียงของท่านพ่อว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านพ่อเป็นพระที่เคร่งและเป็นสายปฏิบัติ เป็นที่นับถือของชาวอีสานและประชาชนคนไทย ตอนลูกอายุได้ ๑๗-๑๘ ปี ลูกได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปกราบท่านพ่อ...ตอนนั้นก็แค่ได้ขึ้นไปกราบ กราบเสร็จแล้วก็ต้องลงมารอข้างล่าง (ใต้ถุนกุฏิ เพราะในช่วงนั้นยังถือว่าเป็นเด็กๆ อยู่)
ลูกมาได้กราบท่านพ่อและฟังธรรมจริงๆ ก็ราวๆ ปี ๒๕๓๘ ซึ่งตอนนั้นลูกกำลังทุกข์ทั้งทางกายและทางใจจนซึมเศร้า ต้องเข้าโรงพยาบาลวิชัยยุทธอยู่เป็นเดือนๆ ตอนนั้นลูกไม่พูดเลย เพราะไม่อยากพูด จนแพทย์ พยาบาลวิตก ประกอบกับลูกมีอาการเบื่ออาหารและผอมลงๆ จนน้ำหนักเหลือ ๓๗ กิโลกรัม ทุกๆคนที่ดูแลลูก(แพทย์ พยาบาล มิตรสหายตลอดจนข้าราชบริพาร) พากันกังวล ทุกคนก็พยายามที่จะหาทางให้ลูกสบายใจ โดยหาญาติพี่น้องมาคุยด้วย เมื่อไม่ได้ผลก็พากันนิมนต์พระหลายรูปมาแสดงธรรมให้ลูกฟัง...แต่ก็ยังแก้ไข ปัญหาไม่ได้ จึงมีคนรู้จักท่านหนึ่งมาแนะกับผู้หลักผู้ใหญ่ของลูกว่า “นิมนต์หลวงตามหาบัวมาซิ” ก็มีแพทย์ท่านหนึ่งแย้งขึ้นมาว่า “หลวงตามหาบัวนะหรือจะมา ออกจากวัดท่านยังไม่ค่อยออกเลย แล้วจะให้ท่านนั่งเครื่องบินมาถึงกรุงเทพฯ คงเป็นไปไม่ได้” (ช่วงนั้นท่านพ่อมักจะอบรมพระและอุบาสกอุบาสิกาอยู่ในวัดเป็นส่วนใหญ่) แพทย์ท่านนั้นพูดไม่ทันขาดคำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น และพยาบาลที่รับโทรศัพท์ก็บอกว่าทางวัดบ้านตาดแจ้งมาว่า ท่านพ่อจะมาเยี่ยมลูกที่โรงพยาบาล...แค่ได้ฟังข่าวว่าท่านพ่อจะมาเยี่ยมลูก ลูกก็ปลื้มมากจนสุดจะบรรยาย คิดอยู่ในใจว่าเป็นบุญของลูกเหลือหลายที่ท่านพ่อจะมาโปรดลูก
เมื่อได้กราบท่านพ่อ ลูกก็เสมือนหายป่วยไปกว่าครึ่งแล้ว ครั้นได้ฟังธรรมของท่านพ่อ ใจอันมึดมิดของลูกก็สว่างไสวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านพ่อสอนลูกในตอนนั้นว่า อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้ เพราะฉะนั้นควรปล่อยวาง ไม่ควรเก็บไว้ให้ใจทุกข์เปล่าๆ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงไม่ควรคาดเดาหรือจินตนาการไปให้จิตฟุ้งซ่าน ซึ่งเมื่อจิตฟุ้งซ่านแล้ว ก็จะเกิดความทุกข์ได้เหมือนกัน ท่านพ่อสอนว่า “จงอยู่ในปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อนาคตย่อมจะดีตามมา” หลังจากจบการแสดงธรรมโปรดลูก ลูกรู้สึกซาบซึ้ง และศรัทธาท่านพ่ออย่างสุดจะบรรยาย จึงได้กราบขอเป็นลูกศิษย์ ซึ่งลูกก็ได้ยินท่านพ่อกล่าวว่า “รับ ด้วยความยินดี”
หลังจากนั้น จิตใจลูกก็สบาย ปลอดโปร่ง อาการเจ็บป่วยก็หายวันหายคืนจนออกจากโรงพยาบาลได้ หลังจากออกจากโรงพยาบาล ลูกก็นึกอยากตามขึ้นไปกราบท่านพ่อที่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี แต่ในช่วงแรกๆ ที่ขึ้นไปวัดป่าบ้านตาด ลูกต้องยอมรับว่ากลัวๆ กล้าๆ เพราะเคยได้ยินมาว่าท่านพ่อดุ...จริงๆ แล้ว ลูกมาทราบหลังจากที่ลูกได้กราบท่านพ่ออย่างสม่ำเสมอว่าท่านพ่อไม่ดุเลย แต่กลับเมตตาลูกเหมือนลูกเหมือนหลานแท้ๆ ตอนคิดว่าท่านพ่อดุ ลูกก็เลยไม่กล้าขึ้นไปคนเดียว แต่ชวน ฯพณฯ องคมนตรี เชาวน์ ณ ศิลวันต์ (ซึ่งเป็นสามีของคุณหญิงไขศรี ณ ศิลวันต์ อาจารย์คณิตศาสตร์ของลูก) ซึ่งท่านก็เป็นศิษย์ของท่านพ่ออยู่แล้ว ไปเป็นเพื่อนฟังธรรมด้วย อะไรที่ลูกไม่กล้าพูดกล้าถามในตอนต้นๆ ท่านองคมนตรีก็ช่วยกรุณาถามนำ เพื่อให้ลูกกล้าพูดกล้าถามด้วยตนเอง
ตอนลูกมาเป็นศิษย์ท่านพ่อใหม่ๆ ท่านพ่อ...ดูแลทุกด้าน นอกจากสอนธรรมะให้ลูกแล้ว ท่านพ่อยังดูแลเอาใจใส่แม้ในด้านสุขภาพของลูก อาทิเช่น ท่านพ่อเห็นลูกผอมมากถึงเวลาท่านพ่อฉันตอนเช้า ท่านพ่อก็ให้ลูกนั่งรับประทานอยู่หลังเสาที่ท่านพ่อนั่งอยู่ (ตอนนั้นศาลาวัดป่าบ้านตาดยังมีเพียงชั้นเดียว) ท่านพ่อจะหันมาถามลูกว่า “ทานข้าวหรือเปล่า” ลูกก็ตอบไปว่า “ทานเจ้าค่ะ” ท่านพ่อก็ถามต่อว่า “ที่ว่าทานน่ะ ทานข้าวกี่เม็ดหรือกี่ช้อน” อันนี้แสดงถึงความเมตตาเอาใจใส่ลูก แม้ประเด็นเล็กประเด็นน้อย
นอกจากนั้นตอนเป็นศิษย์ท่านพ่อเดือนแรกๆ ลูกยังงอแงอยู่มาก มีเรื่องอะไรกระทบใจเข้าก็มาร้องไห้ไปเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านพ่อฟังไป ท่านพ่อก็สอนว่า “ทูลกระหม่อมลูก น้ำตาเป็นของมีค่า ควรให้ไหลออกมาด้วยความปิติ ไม่ใช่ความโศกเศร้า” (หลังจากมาเป็นศิษย์ท่านพ่อไม่นาน ท่านพ่อก็เมตตารับลูกเป็นลูกบุญธรรม)
ปีแรกของการเป็นลูกศิษย์ ท่านพ่อบอกให้ลูกนอนโรงแรมซึ่งขณะนั้นชื่อโรงแรมเจริญศรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Centara) เพราะท่านพ่อเป็นห่วงว่าลูกจะไม่คุ้นเคยกับชีวิต “ชาววัดป่า” แล้วตี ๕ กว่าๆ ลูกก็จะเดินทางออกจากโรงแรมมาคอยใส่บาตรอยู่หน้าวัด พอใส่บาตรเสร็จก็เดินไปที่ศาลา ก่อนฉันท่านพ่อก็จะ “ให้พร” และหลังจากนั้นท่านพ่อและพระในวัดก็จะฉันพร้อมกัน ลูกก็ได้รับข้าวก้นบาตรท่านพ่อทุกครั้ง หลังจากนั้นแล้วท่านพ่อก็จะเทศน์โปรดญาติโยมที่มาทำบุญ ท้ายสุดท่านพ่อก็จะให้พรอีกครั้ง แล้วลูกก็จะกลับไปพักชั่วคราวที่โรงแรม แล้วจะย้อนกลับเข้ามาที่วัดอีกทีช่วงราวๆ บ่ายสองโมง ลูกก็จะเข้ามาสนทนาธรรมกับท่านพ่อ และเรียนที่จะภาวนา การภาวนานั้นลูกรู้สึกว่ายากมากในตอนต้นๆ คิดๆแล้วลูกก็ขำตัวเอง เพราะขนาดทั้งกำหนดลมหายใจเข้า-ออกแล้ว ยังมีคำบริกรรมกำกับก็ยังไม่วาย จิตแล่นไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ลูกเลยต้องค่อยๆ หัดเริ่มจาก ๑๐ นาทีก่อน แต่ลูกก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองโดยใน ๑๐ นาทีนั้น ลูกจะท่องแต่คำบริกรรม...กำหนดลมหายใจเข้า หายใจออกอย่างเคร่งครัด มาหลังๆ ลูกก็สามารถภาวนาติดต่อกันได้ถึง ๕๐ นาที แต่กระนั้นช่วงแรกๆ เพราะความช่างสงสัยของลูก ลูกเคยถามท่านพ่อว่า “ทำไมลูกภาวนาแล้ว ลูกไม่เห็นสวรรค์ เห็นเทวดาฯ บ้างเลย ลูกเคยได้ยินว่าคนอื่นๆ เขาว่าเขาก็เห็นกัน” จำได้เลยว่าตอนนั้นท่านพ่อหัวเราะ และถามลูกว่า “อยากเห็นนักเหรอ” ลูกก็บอกว่า “เปล่า” และท่านพ่อก็สอนว่าไม่เห็นน่ะดีแล้ว เพราะจุดประสงค์ของการภาวนาก็คือ ทำให้จิตรวมเกิดความสงบ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ท่านพ่อบอกว่า ถ้าคนภาวนาแล้วเห็นนรก สวรรค์ เทวดา ภูตผี ก็อาจจะทำให้หลงเพลิดเพลินติดไปกับสิ่งที่ตนเองเห็น ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ทางสงบได้ ปีต่อๆ มา ท่านพ่อให้ลูกเข้ามาอยู่ในวัด ลูกก็ได้ใช้ชีวิตแบบ “ชาววัด” สมใจอยาก ที่กุฏิที่ท่านพ่อจัดให้มีห้องนอนห้องเล็กๆ เพียงห้องเดียว และลูกก็นอนกับฟื้น ช่วงเช้าลูกก็ตื่นตอนตี ๕ (โดยมีไก่วัดเป็นนาฬิกาปลุก) เพื่อมาเตรียมตัว จัดอาหารใส่บาตร กิจวัตรตอนเช้าอย่างอื่นๆ ก็คงเดิม เพียงแต่ลูกไม่ต้องไปอยู่โรงแรม
ช่วงบ่ายหลังจากสนทนาธรรม ลูกก็ไปอยู่ที่กุฏิและภาวนาตามที่ท่านพ่อสอน เป็นความรู้สึกส่วนตัวของลูกว่า ภาวนาที่วัดป่าบ้านตาดแล้ว จิตลูกรวมเร็วสงบเร็ว นิ่งเร็วกว่าภาวนาที่บ้านหรือที่โรงแรม คำสอนของท่านพ่อทุกคำลูกจดจำเสมอ คำสอนที่ลูกซาบซึ้งมากที่สุด คือ ท่านพ่อสอนลูกว่า ทุกอย่างสำคัญที่ใจ ชีวิตนี้มีใจเป็นประธาน ถ้าใจเราดีแล้วทุกอย่างจะดีตาม ดังนั้นลูกจึงพยายามทำใจให้ดีอยู่เสมอ ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ไร้ตะกอน หรือความขุ่นข้องหมองใจ นอกจากนั้นท่านพ่อสอนให้ลูกรู้จักการให้อภัยแก่คนที่ปฏิบัติต่อลูกไม่ดี ท่านพ่อสอนว่า ทานอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าอภัยทาน
ท่านพ่อสอนลูกให้เข้มแข็งดุจหินผา ไม่ให้อะไรมากระทบใจแล้วเป็นทุกข์ แต่ในขณะเดียวกันท่านพ่อก็สอนให้ลูกอ่อนโยนเหมือนต้นอ้อลู่ลมกับคนที่แวดล้อม ท่านพ่อสอนให้ลูกละโทสะ (ซึ่งแต่ก่อนลูกมีมาก) และให้รู้จักปล่อยวาง ท่านพ่อยังอธิบายด้วยว่า การปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยวางไปเฉยๆ โดยไม่พิจารณาความถูกต้อง ทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาก่อน ถ้าเราเป็นฝ่ายผิดก็ต้องปรับแก้ไขตนเองแล้วจึงปล่อยวาง ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูกก็ปล่อยวาง “สิ่งกระทบ” นั้นไปเลย การได้รับการอบรมช่วงนี้จากท่านพ่อ ส่งผลทำให้ลูกมีสุขภาพดีขึ้น โรคบางโรค เช่น โรคนอนไม่หลับก็หายไปเลย เพราะจิตลูกนิ่งสงบไม่ฟุ้งซ่านอย่างแต่ก่อนสิ่งที่ท่านพ่อเน้นสอนลูกอีกเรื่อง คือเรื่องความกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ ท่านพ่อว่า “พ่อแม่เลี้ยงเรามายากลำบากนัก เราฉี่เราอึใส่ตักพ่อแม่ ท่านก็ยังไม่เคยว่า คอยเช็ดคอยล้างให้ แล้วแค่พ่อแม่ตักเตือนจะมีปฏิกิริยาอะไรหนักหนา ไม่ได้นะ ถ้ากตัญญูไม่ได้ก็ไปเกิดเป็นลูกแมงป่องซะ”
ท่านพ่อย้ำสอนให้ลูกมีสติทุกขณะจิต เพราะท่านพ่อสอนว่า คนเราถ้าขาดสติแล้ว ก็จะทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร นอกจากนั้น ท่านพ่อสอนว่าเวลาภาวนาก็ต้องใช้สติกำกับ เพื่อจะป้องกันการหลุดจากการกำหนดลมหายใจ และคำบริกรรมอีกด้วย
คำสั่งสอนของท่านพ่อลูกจดจำ และพยายามปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ ทำให้ลูกของท่านพ่อในวันนี้เป็นคนเข้มแข็งขึ้น มีความสุขขึ้น มีความอดทน อดกลั้น มีความสุขุม เยือกเย็น สามารถสู้กับโลกมนุษย์ที่มีแต่ความทุกข์ ความเศร้า การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ความอิจฉาริษยา ฯลฯ ได้อย่างไม่ทุกข์จนเกินไป ลูกเปลี่ยนไปเป็นคนละคนกับในอดีต ท่านพ่อเป็นผู้ชุบชีวิตให้ลูก ให้ลูกกลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมมากมายนัก
เรื่องที่ลูกกล่าวมาถึงช่วงนี้เป็นเพียงเรื่องที่ท่านพ่อเมตตาลูกทำให้ลูกในฐานะศิษย์คนหนึ่ง แต่พระคุณของท่านพ่อนั้นครอบคลุมไปถึงการที่ท่านพ่อเป็นห่วงประเทศชาติ ในปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยอยู่ในภาวะติดหนี้ติดสินเป็นอันมาก มองไปแล้วดูอนาคตของเมืองไทยจะมืดมน นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านกล่าวว่า เมืองไทยคงต้องก้มหน้าก้มตาใช้หนี้กันไปหลายสิบปี ตอนนั้นท่านพ่อมีความห่วงใยประเทศชาติและประชาชนคนไทย จึงได้จัดให้มีการทำผ้าป่าช่วยชาติ ซึ่งในการนี้ทำให้ท่านพ่อต้องเดินทางไปแทบทุกจังหวัดในประเทศไทย รับบริจาคเงินและทองคำ ต้องเทศน์โปรดประชาชน และได้สอนว่า “ทองอยู่บนตัวญาติโยม ก็ยังไม่งามสง่าเท่ากับอยู่ในคลังหลวง” ตอนที่ท่านพ่อเริ่มโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ท่านพ่อก็อายุ ๘๐ กว่าแล้ว แต่ท่านพ่อก็ยังปฏิบัติภารกิจในการทำผ้าป่าช่วยชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ลูกเคยตามท่านพ่อไปในครั้งที่ท่านพ่อทำผ้าป่าช่วยชาติในภาคกลาง ลูกเองอายุน้อยกว่าท่านพ่อมาก ก็ยังรู้สึกเหนื่อย แต่ท่าน พ่อยังคงนั่งเทศน์อบรมประชาชนทีละ ๔๕ นาทีเป็นอย่างน้อย และอย่างมากก็ชั่วโมงครึ่ง ท่านพ่อทำเช่นนี้ไปทุกๆ ภาค ทำให้ได้ทองเข้าคลังหลวงถึง ๑๒ ตัน (ก่อนที่จะอาพาธหนัก แต่ดูจากการบริจาคทองคำถวายท่านพ่อเพื่อนำเข้าคลังหลวง ตอนท่านพ่อละสังขาร น่าจะได้ทองคำเข้าคลังหลวงรวมทั้งหมด ๑๓ ตัน) และหนี้สินที่เป็นเงินสกุล Dollar ก็รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา และนำไปใช้หนี้เรียบร้อย เท่ากับประเทศไทยได้เป็นไทแก่ตัว และทำให้คนไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีขึ้นมา
ท่านพ่อไม่เคยคิดถึงตัวเองเลย ไม่เคยหวังอยากได้โน่นได้นี่ เงินบริจาคที่ญาติโยมบริจาค ก็นำไปช่วยคน เช่นนำอาหารไปให้หมู่บ้านที่ขาดแคลนยากจน และได้สร้างโรงพยาบาลอีกด้วย ท่านพ่อบอกว่าวัดนี้ (วัดป่าบ้านตาด) อยู่อย่างพอเพียง ไม่ต้องการความหรูหราหรือฟุ้งเฟ้อ ทุกอย่างท่านพ่อทำเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนจริงๆ ความจริงท่านพ่อไม่ได้สงเคราะห์เฉพาะคนไทย คนในประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ช่วยเหลือมาตลอด และที่สำคัญท่านพ่อทำทุกๆ อย่างแบบปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง
แม้ ณ วันนี้ ท่านพ่อได้ละสังขารไปแล้ว แต่ท่านพ่อจะสถิตอยู่ในดวงใจของลูก และดวงใจของคนไทยทั้งประเทศ และลูกเชื่อว่าเมตตาบารมีของท่านพ่อจะคุ้มครองปวงประชาชนคนไทยตลอดจนคุ้มครองประเทศไทยให้มั่นคง และมีความร่มเย็นเป็นสุข สำหรับลูก ลูกให้สัญญากับท่านพ่อว่าจะนำคำสั่งสอนของท่านพ่อที่จารึกอยู่ในใจของลูกมาปฏิบัติ เพื่อให้ลูกเข้าสู่ทางสว่างอย่างแท้จริง " ...
“... คือ ความเย็น ชื่นฉ่ำ ของสายน้ำ
คือ ร่มเงา ลึกล้ำ ของพฤกษา
คือ ความสงบ แน่วนิ่ง ของวิญญาณ์
คือ ดวงแก้ว ล้ำค่า อยู่กลางใจ”
ท่านพ่อจะอยู่ในดวงใจของลูกชั่วกาลนาน
กราบเท้าท่านพ่อด้วยความระลึกถึงและเทิดทูนอย่างที่สุด
จุฬาภรณ์ (ลูกของท่านพ่อ)

---------------------
คัดลอกมาจากหนังสือ "ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์"

ความรู้เบื้องต้นกี่ยวกับ พระอภิธรรม

พระอภิธรรม คืออะไร ?
 เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ
 คัดลอกจาก http://www.geocities.com/gogfox/aphithum2.html

หลังจากที่สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ พรรษา คำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ทั้งหมดรวบรวมได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุคำสอนและเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไว้โดยละเอียด แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎกหรือ ๓ หมวดด้วยกันคือ

พระวินัยปิฎก
พระสุตตันตปิฎก
พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา ปา มะ จุ ปะ (หัวใจพระวินัย) ได้แก่

๑ คัมภีร์อาทิกรรม ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้นบัญญัติ ในสิกขาบท ต่าง ๆ
๒ คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓ คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔ คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕ คัมภีร์ปริวารวรรค ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย

พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่าง ๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที มะ สัง อัง ขุ (หัวใจพระสูตร) ได้แก่

๑ ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒ มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร
๓ สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่นเกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับ มรรค เรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔ อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกกนิบาต ว่าด้วย หลักธรรมที่มีหัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อ เรียกว่า เอกกทสกนิบาต ในนิกายนี้มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕ ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่าง ๆ
นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวดคือ
๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ
๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่องประกอบ ตามสมควร
๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้น อย่างนี้
๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้วิมานไว้ด้วย
๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้
๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวก
๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่าง ๆ ของพระอรหันตสาวิกา
๑๐) ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง การแสดง การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิทเทส และจุลนิทเทส
๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า

พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม (มี ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน) (สภาวธรรม) ล้วน ๆ ยกตัวอย่าง เช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ส่วนที่เรียกชื่อว่า นาย ก นาย ข นั้นเรียกโดยสมมุติโวหารเท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย

พระอภิธรรมปิฎกมีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่

๑ คัมภีร์ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มี ๔ กัณฑ์ คือ
   ๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิกเป็นต้น
   ๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูปเป็นต้น
   ๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงธรรมที่เป็นแม่บท (มาติกา) ของปรมัตถธรรม
   ๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของปรมัตถธรรม

๒ คัมภีร์วิภังค์ แสดงการจำแนกปรมัตถธรรมออกเป็นข้อ ๆ แบ่งออกเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น จำแนกขันธ์ (หมายถึง ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ ก็คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก ส่วนวิญญาณขันธ์ ก็คือ จิต ดังนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง) เรียกว่า ขันธวิภังค์
๓ ธาตุกถา แสดงการจัดหมวดหมู่ของปรมัตถธรรมโดยสงเคราะห์ด้วย ธาตุ (ธรรมชาติที่ ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน)
๔ คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการและแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอัน เกี่ยวกับบุคคล
๕ คัมภีร์กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบประมาณ ๒๑๙ หัวข้อ อันถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรมวินัย
๖ คัมภีร์ยมก ในคัมภีร์นี้จะยกหัวข้อปรมัตถธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ
๗ คัมภีร์มหาปัฏฐาน แสดงเหตุปัจจัยและแสดงความสัมพันธ์อันเป็นเหตุ เป็นผลที่อิงอาศัยซึ่งกันและกันแห่งปรมัตถธรรมทั้งปวงโดยพิสดาร

สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือ ธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอัน แท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลายอันได้แก่จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมาย อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันยิ่ง ธรรมที่อยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรมล้วน ๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงอยากให้ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม นั้นต่างกันอย่างไร